โดยปกติ เวลาคนเรานอนหลับ กล้ามเนื้อที่ลิ้นและที่โคนลิ้น จะคลายตัวลงไปด้วย ทำให้ลิ้นตกลงไปปิดกั้นทางเดินหายใจ แต่ไม่ได้ปิดสนิทนะครับ ทำให้อากาศที่เราหายใจผ่านจมูก และผ่านลงไปยังโพรงจมูกด้านหลัง ผ่านไปไม่สะดวกนัก เกิดคล้ายการกระพือ บริเวณที่โคนลิ้น ทำให้เกิดเป็นเสียงกรน กรณีเช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ
ถ้าหากเราทำงานหนักมาทั้งวัน หรือเหนื่อยมาก ก็จะนอนหลับสนิทหรือ deep มาก
ทำให้ลิ้นตกลงไปได้มากขึ้น ก็ยิ่งกรนหนักขึ้น แล้วโอกาสที่ร่างกายจะพลิกตัวขณะหลับก็น้อย ทำให้คนที่หลับสนิทมากๆ กรนได้มากกว่าทั่วไป
วิธีแก้ไข ก็คือ นอนหนุนหมอนให้ศีรษะสูงขึ้น (แต่ถ้ามากไปก็จะปวดคอนะครับ)
หรือถ้ารู้ตัวว่าทั้งวันทำกิจกรรมมากจนเหนื่อยมาก
ก็ให้นอนหลับในท่านอนตะแคง หรือเกือบๆคว่ำ ก็จะช่วยลดเสียงกรนได้ครับ
กรณีที่กล่าวมา ไม่ถือเป็นความผิดปกติ และไม่ถือว่าเป็นโรค
ไม่จำเป็นต้องรักษาอะไรครับ
แต่ในอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งมักเกิดกับคนที่อ้วน มีสรีระบริเวณคอใหญ่ รวมทั้งเนื้อเยื่อในโพรงช่องปาก ด้านในใหญ่ด้วย หลายๆส่วนเลยร่วมกัน ขัดขวางทางเดินของอากาศตอนหายใจ ทำให้กรนได้ง่ายขึ้นหรือมากขึ้น ถึงแม้ไม่ได้หลับสนิทและจะทำให้ร่างกายได้รับออกชิเจน ในขณะหลับน้อยลง ร่างกายก็จะเตือนตัวเองให้ตื่นขึ้นแบบไม่รู้ตัว เพื่อพลิกหรือขยับตัว ให้หายใจได้คล่องขึ้น หรือตื่นเพื่อให้ร่างกายหลับตื้นขึ้น ลิ้นก็จะได้ไม่ตกลงไปขัดขวางทางเดินหายใจ
บางคนร่างกายจะตื่นตลอดทั้งคืน โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวเลย คิดว่าตัวเองหลับสนิทตลอดทั้งคืน มีผลทำให้ตอนตื่นเช้าจะรู้สึกไม่สดใส ทั้งๆที่นอนไปตั้งหลายชั่วโมง จะรู้สึกเหมือนกับนอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง บางทีก็จะปวดศีรษะตอนตื่นนอน กลางวันก็จะง่วงเหงาหาวนอนตลอดทั้งวัน บางครั้งก็ฟุบกับกับหนังสือขณะอ่านหนังสือ
หรือฟุบไปกับพวงมาลัยขณะขับรถ เหมือนหลับใน ทั้งๆที่ไม่ได้อดนอนมา ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้
ถ้าไม่ได้ขับรถ เวลาไปนั่งไหนก็จะสัปปะหงกอยู่ตรงนั้นเป็นประจำ
ลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมา ถือว่าเป็นโรคครับ เรียกว่า Obstructive Sleep Apnea (OSA)
การที่จะวินิจฉัยว่าเป็น OSA ก็ดูจากประวัติที่กล่าวมา นอกจากนี้ อาจต้องเข้าทดสอบ Sleep lab คือต้องไปนอนค้างคืน ในห้องที่จัดให้ แล้วมีสายมอนิเตอร์ วัดคลื่นสมอง คลื่นหัวใจ ความเข้มของออกซิเจนในเลือดขณะหลับ เพื่อวัดดูว่า เมื่อมีการหลับลึก แล้วร่างกายขาด ออกซิเจนแค่ไหน เทียบกับขณะกรน รวมถึงการที่ร่างกายต้องตื่นตัวเพื่อให้หลับตื้น ฯลฯ
ถ้าเข้า Sleep lab แล้ว ไม่บ่งชี้ว่ามี OSA ก็แก้ไขการนอนกรน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดเสียง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุจากส่วนประกอบต่างๆ ที่โตขึ้น ตรงไหนโตก็ทำให้เล็กลง เพื่อไม่ให้มาขัดขวางทางเดินหายใจ การตรวจภายในช่องปาก อาจพบส่วนประกอบต่างๆ ที่ใหญ่ขึ้น
เช่น ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อที่อยู่ข้างลิ้นไก่ ที่เวลาอ้าปากมองในกระจกจะเห็นเป็นเหมือนซุ้มประตูโค้ง ( Anterior pillar ) รวมทั้ง อาจมีต่อมทอนซิลโตด้วย ถ้าต่อมทอนซิลโต การตัดต่อมทอนซิลอาจช่วยลดเสียงได้ ถ้าลิ้นไก่ และ/หรือ anterior pillar ใหญ่ อาจใช้การรักษา
ด้วยเลเซอร์จี้ให้ยุบลงได้ กรณีนี้ต้องปรึกษาหมอทางด้านหู คอ จมูกครับ
ถ้าทดสอบ Sleep lab แล้วบ่งชี้ว่าเป็น OSA ก็ต้องหาสาเหตุต่างๆ แล้วก็แก้ที่สาเหตุ รวมทั้งแก้ไขด้วยเครื่องช่วยหายใจแบบ Positive End--Expiratory Airway Pressure เพื่อป้องกันไม่ไห้เกิดผลแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาในระยะยาวเช่น เลือดข้น ( Polycythemia ) หรือความดันโลหิตสูง
ไม่ต้องตกใจหรือเป็นกังวลหรอกนะครับ มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ในคนที่นอนกรน ที่พบว่าเป็น OSA ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ตัวอ้วนมาก โดยเฉพาะฝรั่งทางตะวันตก จะเป็นมากกว่าคนไทย
คนส่วนใหญ่ที่นอนกรน ใช้การจัดท่านอนที่เหมาะสมก็ช่วยได้แล้วครับ ที่เหลือก็เป็นเรื่องขององค์ประกอบบางอย่างในช่องปากด้านในที่มันใหญ่ ก็แก้ไขไม่ยากครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ปรึกษาหมอทางด้านหู คอ จมูก จะดีที่สุดครับ
คุณเป็นคนนอนกรนหรือเปล่า ถ้าใช่ ต้องรีบหาทางแก้ไขเสียโดยด่วน ลองปรับพฤติกรรมการนอนเสียใหม่ตั้งแต่คืนนี้ดีกว่า
1.นอนตะแคง
จะ ช่วยลดและผ่อนคลายความดันในช่องทางเดินอากาศที่เกิดจากการมีน้ำหนักมากเกิน ไปได้ แต่ถ้าไม่ชินกับการนอนตะแคง อาจใช้ลูกเทนนิส 2 - 3 ลูก เปลือกถั่วใส่ถุง หรือกระเป๋าวางไว้ด้านหลัง ลูกบอลหรือเปลือกถั่วเหล่านี้จะช่วยให้ไม่พลิกตัวไปนอนหงายได้
2.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิด
เครื่อง ดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ และยาแก้แพ้ต่าง ๆ เป็นตัวทำให้การหายใจช้าลง และตื้นขึ้น กล้ามเนื้อหย่อนคลายลงมากกว่าปกติ จึงมีแนวโน้มได้มากว่าโครงสร้างลำคอจะอุดตันช่องทางเดินอากาศได้ง่าย เป็นสาเหตุให้เกิดอาการนอนกรน
3.ลดน้ำหนัก
ภาวะ หยุดหายใจขณะนอนหลับเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากผิด ปกติ ทำให้การหายใจเป็นไปได้อย่างยากลำบาก การลดน้ำหนักสามารถช่วยได้ แต่หมายถึงลดให้ใกล้เคียงกับน้ำหนักตามสัดส่วน
4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังสามารถช่วยลดน้ำหนักได้อย่างปลอดภัยที่สุด ทั้งยังช่วยปรับสภาพกล้ามเนื้อ และทำให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น
ที่มา : doctorsan.com,นพ.สมยศ ชัยธีระสุเวท