ในบรรดา เครื่องดื่มยามเช้ายอดนิยมของคนกรุงยุคนี้ นมถั่วเหลืองเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มจากธัญพืชที่ได้ถูกบรรจุไว้ในอันดับต้นๆ ของความนิยม เราจะพบเห็นการค้าขายได้ทั่วไปในยามเช้า และปัจจัยหนุนที่สำคัญต่อการขยายตัวของตลาดนมถั่วเหลืองคือ กระแสความสนใจในเรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และผลงานวิจัยที่ยืนยันถึงการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง ซึ่งดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ให้ความสนใจในสุขภาพ ก็มีความชื่นชอบและรับประทานเป็นประจำ
หลายท่านคงทราบถึงประโยชน์อันมหัศจรรย์ของนมถั่วเหลือง และดิฉันก็เห็นว่านมถั่วเหลืองก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนรักสุขภาพแทนการดื่มนมวัว แต่ก็ยังมีข้อมูลบางอย่าที่ดิฉันเริ่มสนใจว่า...จริงๆ แล้วถั่วเหลือง มีประโยชน์ที่แท้จริงอะไรที่ทำให้หลายคนสนใจที่จะบริโภค...ดิฉันได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า...
ถั่วเหลืองมีชื่อสามัญว่า Soybean และมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Glycine max (L.) Merr. อยู่ในวงศ์ Leguminosae และมีชื่อที่เรียกตามท้องถิ่นเช่น ถั่วพระเหลือง ถั่วแระ ถั่วเหลือง (ภาคกลาง) มะถั่วเน่า(ภาคเหนือ) อึ่งตั่วเต่า เฮ็กตั่วเต่า ลักษณะสำคัญของถั่วเหลืองคือ เป็นพืชล้มลุก ราก ถั่วเหลืองมีระบบรากแก้ว (tap root system) ตามรากจะพบปม (nodule) ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียพวก Rhizobium japonicum เข้าไปอาศัยอยู่ แบคทีเรียจะได้รับคาร์โบไฮเดรตจากต้นถั่วเหลือง และถั่วเหลืองก็จะได้ไนโตรเจนในรูปไนเตรตที่แบคทีเรียตรึงได้จากอากาศไปใช้ประโยชน์ต่อไป การอยู่อาศัยของแบคทีเรียที่รากเรียกว่าเป็นแบบชีวสัมพันธ์ (symbiosis) หรือพึ่งพาอาศัยกัน
ถั่วเหลืองมีประโยชน์อย่างมากต่อโลก โดยเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เมล็ดถั่วเหลืองประกอบด้วย
โปรตีน (30-50 %) และเป็นโปรตีนจากพืชเพียงชนิดเดียวที่มีคุณสมบัติเหมือนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ มีกรด aminoacid ที่สำคัญ 9 ชนิด
ไขมัน (13-24 %) มีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย มีวิตามินอีสูงส่วนประกอบของไขมันได้แก่ ไขมันไม่อิ่มตัว(polyunsaturated fat) ร้อยละ 63 ไขมันอิ่มตัว(saturated fat ) ร้อยละ 15 ไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเดี่ยว (monounsaturated) 24 % และยังมีกรด linoleic acid ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อมนุษย์
คาร์โบไฮเดรท (12-24 %)
ดังนั้นถั่วเหลืองจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิเช่น ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ ทั้งในรูปของการบริโภคโดยตรงหรือแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ หรือใช้ในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ส่วนกากถั่วเหลืองยังใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ นอกจากนี้แล้วการปลูกถั่วเหลืองยังช่วยบำรุงดินอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีไรโซเบียมอาศัยอยู่ในปมที่ราก ทำให้สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้
และในถั่วเหลืองมีสารเคมี ที่เป็นประโยชน์หลายชนิด เช่น Lecithin, Oligosaccharide, Vitamin E, Cholesterol, phytes, Isoflavones เป็นต้น และประโยชน์ที่น่าสนใจของ "ISOFLAVONES" คือการเป็นสารที่มีประโยชน์ในสตรีวัยทอง เพราะออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (PHYTORESTROGEN) แต่อ่อนกว่ามากจะช่วยเพิ่มมวลกระดูก(bone Mass) ให้หนาแน่นขึ้นโดยลดการละลายแคลเซียมออกจากกระดูก
นอกจากนี้แล้ว ISOFLAVONES ยังลดอาการ หมดประจำเดือนอย่างอื่นๆ อีก เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก ไขมันสูง ช่องคลอดแห้ง อารมณ์ไม่ปกติ เป็นต้น ในสัตว์ทดลองปรากฏว่า ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านม, มะเร็งช่องคลอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งต่อมลูกหมาก อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งต้องการการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก และจากงานงานวิจัยที่ได้ศึกษา และเป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แล้วคือ สตรีที่มีการบริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำตลอดชีวิตจะเป็นมะเร็ง ที่เต้านมน้อยมากหรือไม่เป็นเลย เช่น สตรีชาวญี่ปุ่นและชาวจีน เป็นต้น
1. ฤทธิ์ของฮอร์โมนในถั่วเหลืองที่เรียกว่า PHYTOESTROGEN นั้น เป็นฤทธิ์ต่ำมาก ไม่มีผลข้างเคียงอื่น ๆ เหมือนเช่น ยาคุมกำเนิด จากการทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต่ำกว่าฮอร์โมน ESTRADIOLในยาคุมกำเนิดถึง 1,000 เท่า
2. การออกฤทธิ์ของ PHYTOESTROGEN โดยการไปแย่งกัน จับกับ ESTRADIOL ที่จุด BINDING OF ESTROGEN RECEPTOR SITES ดังนั้นจึงเหมาะกับสตรีที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนทั้งมากและน้อยได้ดีทั้งสองแบบ คือมีฤทธิ์เป็น ESTROGEN และ ANTI-ESTROGEN สามารถปรับสภาพฮอร์โมนสตรีให้มีความสมดุลได้
3. ผลการทดลองในสัตว์ทดลองจากหลาย ๆ สถาบัน พบว่า สาร ISOFLAVONES ป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม, มะเร็งช่องคลอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งที่ต่อมลูกหมาก อย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่ชัดเจน
4. การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ISOFLAVONES ยับยั้งการเติบโตของก้อนมะเร็ง (TUMOR) ในสัตว์ทดลองได้
5. มีการทดลอง 3 แห่ง รายงานผลมาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มีฤทธิ์ป้องกัน การเกิดมะเร็งเต้านมได้ (Development of breast cancer)
นอกจากการรับประทานอาหารอย่างฉลาด เช่น นมถั่วเหลืองแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ การออกกำลังกาย ตามแบบที่เราถนัด ไม่ว่าจะเป็นวิ่งเหยาะๆ เล่นโยคะ ว่ายน้ำ หรือแม้แต่การทำงานบ้านเพื่อให้เหงื่อออก โลหิตไหลเวียนสะดวก เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย แค่นี้ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในชีวิตอีกหลายอย่าง และยังได้สุขภาพที่ดีอีกด้วย สร้างเสริมสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ
ที่มา http://gotoknow.org/blog/healthyforyou/25044