การรักษาโรคเหงือกอักเสบ

อาการเหงือกบวมมีเลือดออก และบางครั้งมีหนองไหลออกมาจากร่องเหงือก เป็นอาการของโรคปริทันต์ในระยะที่ลุกลามมากแล้ว เมื่อตรวจดูจะพบว่า ร่องเหงือกมีความลึกมากขึ้น ซึ่งเรียกว่าร่องลึกปริทันต์ หรือบางทีก็เห็นตัวฟันยากเพิ่มขึ้นด้วย

การรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ขึ้นกับอวัยวะปริทันต์ที่อยู่รอบๆ ฟันที่ทำหน้าที่ช่วยยึดฟันให้แน่นว่าถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหน หากอวัยวะปริทันต์มีเหลือพอที่จะช่วยยึดฟัน อาจพิจารณารักษาโดยการทำความสะอาดร่องลึกปริทันต์ บางรายอาจทำการผ่าตัดเหงือกเพื่อลดความลึกของร่องลึกปริทันต์

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ได้ผล ตัวผู้ป่วยเองจะต้องรักษาความสะอาดของช่องปากอย่างสม่ำเสมอ การเป็นโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์นี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองโดยการแปรงฟันร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความ สะอาดบริเวณซอกฟัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์อันเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค การดูแลความสะอาดในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เหงือกกลับคืนสภาพปกติได้

http://www.massoralsurgery.com/_media/procedural_imgs/apico.gif

ถ้าตรวจพบว่าอวัยวะปริทันต์ถูกทำลายไปมากแล้ว การรักษาคงต้องถอนฟันซี่นั้นออก โรคปริทันต์เป็นโรคที่มีการทำลายอวัยวะปริทันต์อย่างถาวร คือ เหงือก เยื่อยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน กระดูกขากรรไกร จะถูกทำลายไปโดยไม่สามารถรักษาให้คืนสภาพปกติได้ ร่องเหงือกจากปกติที่ลึกประมาณ 2-3 มิลลิเมตร จะลึกมากขึ้นเกิดเป็นร่องลึกปริทันต์เป็นที่อยู่ของคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวการของการเกิดโรค อาการของโรคจะรุนแรงเป็นระยะๆ ผู้ที่เป็นโรคต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการเหงือกบวม ปวด ฟันโยก หรือมีหนองไหลออกจากร่องลึกปริทันต์ การเป็นโรคมักจะเป็นกับฟันหลายๆ ซี่ จึงส่งผลให้มีการสูญเสียฟันเป็นจำนวนมากในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

การขูดหินปูน ทั้งนี้จะขูดหินปูนบ่อยแค่ไหนในแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นกับการมีหินปูนเกิดขึ้นได้ช้าหรือเร็ว ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกัน บางคนมีหินปูนเกาะมากและเกิดได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางคนมีหินปูนเกิดได้น้อยหรือแทบจะไม่เกิดเลย ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีความแตกต่างในเรื่องส่วนประกอบของน้ำลาย ชนิดของคราบจุลินทรีย์ และพฤติกรรมการบริโภคอาหาร อันเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดหินปูน นอกจากนี้ยังขึ้นกับพฤติกรรมการดูแลความสะอาดในช่องปากของแต่ละบุคคลด้วย

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ ต้องดูแลความสะอาดของช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค การแปรงฟันนับเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ ควรแปรงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เวลาเช้า และก่อนเข้านอน ด้วยเหตุผลที่ว่าคราบจุลินทรีย์จะก่อตัวขึ้นใหม่หลังการแปรงฟันภายในเวลา ประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งในแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไป นอกจากการแปรงฟันแล้ว ควรใช้ไหมขัดฟันช่วยทำความสะอาดบริเวณซอกฟันในส่วนที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง ก็จะช่วยให้กำจัดคราบจุลินทรีย์อันเป็นต้นเหตุการเกิดโรคได้ดียิ่งขึ้น

Manager Online - สุขภาพ

  ©Template Blogger Green by Dicas Blogger .

TOPO