ประชากรที่สูบบุหรี่มีอัตราการเกิด 1.51 เท่า
ประชากร ที่สูบบุหรี่มีอัตราการเกิดมะเร็งตับ 1.51 เท่า และผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้ว มีอัตราการเกิดมะเร็งตับ 1.12 เท่าของผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่
มูลนิธิ รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานการวิจัยที่พบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ งานวิจัยดังกล่าว ตีพิมพ์ในวารสารระบาดวิทยานานาชาติ ฉบับเดือนสิงหาคม 2552 โดยการทบทวนรายงานวิจัยการติดตามศึกษาระยะยาว 38 ชิ้น และรายงานการศึกษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับกับประชากรกลุ่มเปรียบเทียบ 58 รายงาน พบว่า ประชากรที่สูบบุหรี่มีอัตราการเกิดมะเร็งตับ 1.51 เท่า และผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้ว มีอัตราการเกิดมะเร็งตับ 1.12 เท่าของผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ โดยข้อมูลการศึกษาจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกในห้วงเวลาต่าง ๆ มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติไอเออาร์ซี ได้สรุปอย่างเป็นทางการแล้วว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งตับ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาเพียงแต่ระบุว่า หลักฐานบ่งบอกว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ แต่ยังไม่ฟันธงเลยทีเดียว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ให้ความเห็นว่า มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของชายไทยภาคอีสานและเป็นมะเร็งอันดับสองรองจาก มะเร็งปอดของชายไทยภาคอื่นทุกภาค ที่ผ่านมาเชื่อกันว่า มะเร็งตับในคนไทยมาจากหลายสาเหตุอันมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อพยาธิในตับ การได้รับสารก่อมะเร็งจากเชื้อราอะฟลาท็อกซินในถั่ว การกินอาหารดิบและหมักดองที่มีสารก่อมะเร็งปะปน แต่ข้อมูลที่พบว่า คนสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งตับ เป็น เรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากตับมีหน้าที่ดักกรองและทำลายสารพิษทุกชนิดที่เข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งสารพิษและสารก่อมะเร็งจากควันบุหรี่ การสูบบุหรี่จึงทำให้ตับได้รับสารก่อมะเร็งมากขึ้น นานเข้าก็เกิดเป็นมะเร็งขึ้นได้ ในคนไทยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งตับเพิ่มขึ้น เช่น คนที่เป็นพาหะเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรอย่างยิ่งที่จะไม่สูบบุหรี่รวมทั้งหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่ร้ายแรงและแทบจะไม่มีทางรักษาเลย
ที่มา: มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบ