ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการฟอกสีฟัน เราต้องรู้ถึงสาเหตุของสีฟันที่เข้มก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใดโดยทั่วไปสีฟันที่เข้มเกิดจาก 3 ลักษณะ คือ
1. การเปลี่ยนสีของฟันที่เกิดขึ้นภายในตัวฟัน เกิดจากการดื่มน้ำหรือรับประทานสารที่มีฟลูออไรด์มากเกินไป ทำให้เกิดเป็นลักษณะฟันตกกระ (Fluorosis) หรือการรับประทานยาปฏิชีวนะพวกเตตร้าไซคลิน (Tetracycline) ที่ได้รับมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รวมทั้งเกิดจากวัสดุอุดฟันที่มีส่วนผสมของโลหะ ฟันที่ตายเนื่องจากถูกกระทบกระแทก ฟันตายหมายถึงฟันที่ไม่มีเส้นเลือดเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยงทำให้สีฟันไม่ขาวใสเหมือนฟันธรรมชาติ ซึ่งจะเกิดกับฟันที่ผุมากๆแล้วทิ้งไว้นานๆไม่ได้รักษา หรือฟันที่เคยรักษาคลองรากฟันมาแล้ว สาเหตุดังกล่าวอาจทำให้ฟันเป็นสีเทาดำหรือน้ำตาลเข้มมากๆ ด้วยสาเหตุนี้การฟอกสีฟันจะไม่ค่อยได้ผล แต่ถ้าต้องการฟันขาว ก็สามารถทำได้โดยการทำ Veneer หรือ Facing
2. การเปลี่ยนสีของฟันที่เกิดขึ้นภายนอกตัวฟัน ได้แก่ การที่มีคราบหินปูนหรือหินน้ำลาย คราบชา กาแฟ น้ำอัดลม ไวน์แดง หรือแกงเผ็ดต่างๆ การสูบบุหรี่ รวมไปถึงการแปรงฟันที่ผิดวิธี ทำให้มีแผ่นคราบจุลินทรีย์และหินปูนไปเกาะที่ผิวนอกของตัวฟันทีละน้อยจนทำ ให้ฟันมีสีเหลืองเข้มขึ้น สาเหตุจำพวกนี้แก้ไขได้ไม่ยาก แค่มาขัดฟัน ขูดหินปูน หรือทำ Air Flow หลีกเลี่ยงชา กาแฟ บุหรี่ แปรงฟันให้ถูกวิธี ก็สามารถช่วยได้
3. การเปลี่ยนสีของฟันที่เกี่ยวข้องกับอายุ ส่วนของเคลือบฟันจะบางลงเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นทำให้เห็นเนื้อฟันซึ่งอยู่ชั้นในและมีสีค่อนข้างเหลืองชัดเจนขึ้น เป็นกรณีที่ฟันเหลืองตามธรรมชาติแต่เข้มมากกว่าปกติ จะทำการฟอกสีฟันได้ด้วยเจลฟอกสีฟัน โดยทันตแพทย์จะต้องตรวจดูสภาพของเหงือกและฟัน รอยร้าวต่างๆบนตัวฟันและสภาพการรั่วของวัสดุอุดฟัน รวมทั้งจะต้องขูดหินปูนเพื่อทำความสะอาดฟันและลดการอักเสบของเหงือกก่อน.
วิธีในการฟอกสีฟันแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. In-office bleaching (การฟอกสีฟันในคลินิก)
2. Home Bleaching (การกลับไปฟอกสีฟันเองที่บ้าน)
หลังการฟอกสีฟัน ควรปฎิบัติดังนี้
- ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ชา กาแฟ โคล่า ไวน์แดง อาหารและเครื่องดื่มที่มีสีเข้ม
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อนจัด หรือเย็นจัด
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัดใน 2 สัปดาห์แรก
- ควรหลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปาก และยาสีฟันที่มีสีเข้มด้วยเช่นกัน
- ควรใช้ยาสีฟันที่ใช้ร่วมกับการฟอกสีฟันโดยเฉพาะ