1. การเกิดโรคฟันผุและการป้องกันฟันผุด้วยการเคลือบหลุมร่องฟัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคฟันผุเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการสูญเสียแร่ธาตุ และการสะสมแร่ธาตุกลับคืนมาของฟัน ซึ่งกระบวนการดังกล่าว จะเกิดขึ้นทันทีที่ฟันขึ้นมาในช่องปาก เมื่อฟันมีการสูญเสียแร่ธาตุมากขึ้น จนถึงขั้นไม่สามารถกลับคืนเป็นผิวเคลือบฟันปกติได้อีก ก็จะปรากฏเป็นรอยฟันผ ุหรือโพรงฟันผุที่สามารถสังเกตพบได้ทางคลินิก จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ฟันผุจะพบมากที่สุด ในฟันกรามแท้ซี่แรกด้านบดเคี้ยว และจากผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ก็พบว่า สำหรับคนไทยนั้น เด็กไทยอายุ 12 ปี มีฟันผุที่ฟันกรามแท้ซี่ 1 และ 2 เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า ฟันผุส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นที่หลุมและร่องฟัน ก่อนตำแหน่งอื่นๆ ดังนั้น ด้านบดเคี้ยว จึงเป็นตำแหน่งที่เกิดฟันผุได้มากที่สุด โดยฟันผุที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของฟันผุทุกตำแหน่งในช่องปาก
แม้ว่าในปัจจุบันแนวโน้มการเกิดโรค ฟันผุจะไม่รุนแรงเท่า 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น หากไม่ได้รับการควบคุมและป้องกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคฟันผุ ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยับยั้งโรคฟันผุ ในขั้นตอนการดำเนินของโรคแต่ละขั้น จึงยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น สำหรับการดำเนินงานทันตสาธารณสุขในปัจจุบัน มาตรการที่ได้รับการยืนยันว่า สามารถป้องกันการเกิดฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพมีหลายอย่าง อาทิ เช่น การเติมฟลูออไรด์ในน้ำประปา (water fluoridation) การใช้ฟลูออไรด์ทางคลินิกทั้งชนิดเจล (fluoride gel) และวาร์นิช (fluoride varnish) การใช้คลอเฮ็กซิดีน (chlorhexidine) การเคลือบหลุมร่องฟัน (sealant) และการให้คำปรึกษา เป็นต้น
จากการที่ฟันผุส่วนใหญ่มักจะเกิด ขึ้น ที่บริเวณหลุมและร่องฟันก่อนตำแหน่งอื่น ทำให้การเคลือบหลุมร่องฟัน ได้รับการยอมรับว่า เป็นวิธีการป้องกันฟันผุที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลดี ในการป้องกันฟันผุโดยเฉพาะที่หลุมร่องฟัน ซึ่งในครั้งแรก การเคลือบหลุมร่องฟัน ได้พัฒนาขึ้นมาจากการพยายามใช้ zinc phosphate cement ฉาบบริเวณหลุมและร่องของฟัน นอกจากนี้ ยังมีความพยายามลบหลุมร่องฟัน ด้วยเครื่องมือ และสารเคมีชนิดต่างๆ (enameloplasty) รวมทั้งวิธีการอื่นๆ จนถึงปี ค.ศ.1955 Buonocore ได้นำเสนอการใช้เทคนิคการ bonding ขึ้นเป็นครั้งแรก จึงเป็นแนวทางให้เกิด การพัฒนาวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดเรซิน ขึ้นในที่สุด ทั้งนี้ การเคลือบหลุมและร่องฟัน เพื่อป้องกันโรคฟันผุด้านบดเคี้ยว สามารถทำได้ทั้งบนผิวฟันที่ยังไม่ผุ และฟันผุในระยะเริ่มต้น เป็นวิธีการที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาชา ไม่ต้องใช้เครื่องมือมาก ไม่ต้องกรอตัดชิ้นส่วนของฟัน ไม่แพง และสามารถทำซ้ำได้ ซึ่งการเคลือบหลุมและร่องฟันเป็นวิธีการป้องกันวิธีหนึ่งที่ทันสมัย เป็นวิทยาศาสตร์ และรบกวนเนื้อฟันน้อยที่สุด (minimal invasive) ซึ่งควรนำมาใช้เป็นวิธีการป้องกันฟันผุ แทนการกำจัดรอยโรคโดยการทำลายเนื้อฟันออกไป ตามแนวคิดเดิม
จากการทบทวนวรรณกรรมต่างๆ พบว่าฟันที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟัน จะมีอัตราการเกิดฟันผุต่ำกว่าฟันที่ไม่ได้เคลือบถึง 71% โดยมีคำแนะนำที่สำคัญในการเคลือบหลุมร่องฟัน ได้แก่
1. การเคลือบหลุมร่องฟันจะเป็น ประโยชน์ และมีประสิทธิภาพมาก หากดำเนินการด้วยความประณีต โดยบุคลากรที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะในฟันที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ หรือเกิดฟันผุในระยะเริ่มแรกไปแล้ว
2. ฟันที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ และควรได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันนั้น สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ รวมถึงในฟันน้ำนมด้วย
3. ขั้น ตอนการเคลือบวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันลงบนผิวฟันที่ดี จะเพิ่มประสิทธิภาพได้มาก หากมีการทำความสะอาดในหลุมร่องฟันก่อนการเคลือบ ทั้งนี้ ในบางกรณีสามารถพิจารณากรอเปิดหลุมร่องฟัน ให้กว้างขึ้นก็ได้ แต่ต้องทำให้น้อยที่สุด
4. ควรศึกษาหาความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลง ของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางวัสดุศาสตร์ใหม่ๆ ด้วย
2. การเคลือบหลุมร่องฟันด้วยวัสดุชนิดกลาสไอโอโนเมอร์
จากแนวคิดที่เชื่อว่าการใช้วัสดุ ที่สามารถให้ฟลูออไรด์กับผิวฟันได้อย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้มีผลดีในการป้องกันฟันผุเพิ่มมากขึ้น จึงมีความพยายามนำเอาวัสดุที่ปลดปล่อยฟลูออไรด์ มาพัฒนาเป็นวัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน เพราะนอกจากจะมีความสามารถสูงในการปลดปล่อยฟลูออไรด์ แล้ว ยังส่งผลในการป้องกันฟันผุโดยวิธีการเคลือบหลุมร่องฟันอีกด้วย และกลาสไอโอโนเมอร์ยังมีคุณลักษณะที่เหมาะสมอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น สามารถยึดติดกับผิวฟันด้วยพันธะเคมี ช่วยลดการเตรียมฟันโดยการกรอตัดเนื้อฟัน เข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของโพรงประสาทฟัน สัมประสิทธิ์การขยายตัวเมื่อได้รับความร้อนมีค่าต่ำกว่าเนื้อฟันเพียงเล็ก น้อย เป็นต้น
จากคุณสมบัติของวัสดุชนิดกลาสไอโอ โนเมอร์ดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำมาผลิต เป็นวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันแล้ว พบว่า ยังมีคุณสมบัติทางกายภาพบางประการ ที่ไม่ทัดเทียมกับวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดเรซิน ซึ่งเป็นวัสดุใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน แต่ก็มีผู้ให้ความสนใจศึกษาคุณลักษณะ และข้อดีข้อเสียของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดนี้เป็นจำนวนมาก แม้ว่าหลายการศึกษาจะพบว่าอัตราการยึดติด (retention rate) ของการเคลือบหลุมร่องฟัน ด้วยกลาสไอโอโนเมอร์จะต่ำกว่าชนิดเรซิน แต่ก็มีการศึกษาที่พบ ข้อดีที่เกิดขึ้นจากคุณสมบัติ การปลดปล่อยฟลูออไรด์ เช่น
* พบว่า อัตราการป้องกันฟันผุของการเคลือบหลุมร่องฟัน ด้วยกลาสไอโอโนเมอร์มีค่าเป็นที่น่าพอใจ แม้วัสดุนั้นจะหลุดออกไปจากผิวฟันแล้วก็ตาม
* พบว่า การเคลือบหลุมร่องฟันด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ ยังสามารถป้องกันการเกิดฟันผุของเคลือบฟัน ในส่วนที่ติดกับวัสดุ แม้ว่าบริเวณดังกล่าวจะไม่ได้รับการเคลือบด้วยวัสดุ
จากการประชุมวิชาการ International Association for Dental Research (IADR) ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี ค.ศ.1996 มีผลการสัมมนาสำคัญ ที่เกี่ยวกับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วย กลาสไอโอโนเมอร์ ที่ชี้ให้เห็นหลักฐานทางวิชาการในปัจจุบันว่า แม้การเคลือบหลุมร่องฟันด้วย กลาสไอโอโนเมอร์ จะยังมีความสามารถในการยึดติดกับผิวฟันต่ำกว่าการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยเรซิ นก็ตาม แต่ก็มีประโยชน์ในการป้องกันฟันผุได้ดีกว่า นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาอีกมาก ที่สนับสนุนว่า ไม่ว่า retention rate ของการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยกลาสไอโอโนเมอร์จะมีค่าต่ำกว่าเพียงใด แต่ความสามารถในการป้องกันฟันผุของวัสดุทั้งสองชนิด ยังไม่สามารถกล่าวอ้างว่า วัสดุชนิดใดมีความสามารถเหนือกว่าวัสดุอีกชนิดหนึ่งอย่างชัดเจน
ในปัจจุบัน นอกจากวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ที่นำมาผลิตเป็นสารเคลือบหลุมร่องฟันโดยตรง เช่น Fuji III, Fuji III LC แล้ว ยังมีวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการบูรณะฟันแบบอื่นๆ ในท้องตลาดอีกหลายชนิด ที่สำคัญคือวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์สำหรับการบูรณะฟันผุแบบ Atraumatic Restorative Treatment (ART) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติทางกายภาพ แตกต่างไปจากวัสดุที่นำมาเคลือบหลุมร่องฟันเล็กน้อย และมีผู้นำเอาวัสดุดังกล่าว มาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุเคลือบหลุม-ร่องฟันแทน ซึ่งพบว่าผลการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ นอกเหนือจากผลการป้องกันฟันผุที่ได้แล้ว เนื่องจากวัสดุดังกล่าวผลิตมา เพื่อใช้ในหน่วยเคลื่อนที่ หรือในสถานการณ์ที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางทันตกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้อุดฟันได้ ด้วยแรงกดจากนิ้วมือของทันตแพทย์ จึงทำให้สามารถนำวัสดุดังกล่าว มาปรับใช้เป็นวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันได้สะดวกขึ้น นอกจากการนำวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ ที่ใช้สำหรับงาน ART มาเคลือบหลุมร่องฟันแล้ว ยังมีนักวิจัยอีกหลายคนที่นำเอากลาสไอโอโนเมอร์ ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นวัสดุสำหรับการบูรณะฟันชนิดอื่นๆ เช่น Ketac Molar, Vitremer ฯลฯ มาทดลองใช้เป็นวัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน ซึ่งในหลายการศึกษาก็พบว่า ให้ผลในการป้องกันฟันผุเป็นที่น่าพอใจด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ในการเลือกใช้วัสดุกลาสไอโอโนเมอร์เพื่อเคลือบหลุมร่องฟัน ทันตบุคลากร จึงควรจะได้ศึกษาให้เข้าใจคุณสมบัติทางวัสดุศาสตร์ ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อบ่งใช้ และเทคนิคการใช้อื่นๆ ของวัสดุชนิดนี้ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการป้องกันฟันผุที่น่าพึงพอใจต่อไป
ที่มา : http://dental.anamai.moph.go.th