“ติดอ่าง” แก้ไขอย่างไรดี

“ติดอ่าง” เป็น ความผิดปกติของจังหวะการพูด มีลักษณะพูดไม่คล่อง ตะกุกตะกัก ติดๆขัดๆ พูดซ้ำๆ คำเดิม มักเป็นคำต้นประโยค นอกจากนี้ยังมีการพูดลากเสียง พูดขาดตอนเป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่อง หรือลังเลที่จะพูด บางคนมีใบหน้าหรือท่าทางผิดปกติ เช่น ใบหน้าบิดเบี้ยว กระพริบตา เม้มปาก หรือกระทืบเท้าในขณะที่พูดติดอ่าง อาการอาจไม่เกิดเมื่ออ่านออกเสียง ร้องเพลง พูดคนเดียว หรือพูดกับสัตว์เลี้ยง แต่อาการมักจะสัมพันธ์กับความเครียด

อาการติดอ่างมักเกิดในเด็กก่อนวัยเรียน เนื่องจากเด็กวัยนี้มีพัฒนาการด้านภาษาเร็ว อยู่ในช่วงที่เด็กกำลังหัดพูด จึงอาจพูดผิด พูดติดๆ ขัดๆ หรือพูดไม่ชัดได้ อาการติดอ่างอาจเกิดขึ้นชั่วคราวเพียงช่วงหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป อาการนี้อาจหายไปได้เอง แต่บางคนก็เป็นต่อเนื่องจนโต ซึ่งจะรักษาได้ยากกว่า ดังนั้น หากพบว่าเด็กมีอาการติดอ่าง ควรรักษาตั้งแต่ต้น
20070829_81_07.jpg image by tor2007

สาเหตุของการพูดติดอ่าง
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด บ้างก็ว่าการติดอ่างมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ แต่ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าการติดอ่างเกิดจากการเรียนรู้ที่ผิด ยกตัวอย่างเช่น

- เมื่อเด็กยังเล็ก ยังพูดไม่คล่อง เด็กอาจพูดซ้ำๆ เพราะอวัยวะที่ใช้ในการพูดยังทำงานไม่คล่อง
- เด็กนึกคำพูดไม่ออก เพราะยังรู้คำศัพท์ไม่มากนัก
- เด็กอาจถูกผู้ใหญ่เร่งรัดให้พูดเร็วเกินไป หรือสอนให้พูดคำต่างๆ มากเกินไป
- เด็กมีความเครียดหรือวิตกกังวล เช่น เมื่อมีน้องใหม่ ย้ายบ้าน เปลี่ยนโรงเรียน หรือมีอาการเจ็บป่วย ตลอดจนเมื่อเกิดอารมณ์ เช่น โกรธ ไม่พอใจ
- เมื่อเด็กพูดไม่คล่อง ผู้ใหญ่อาจแสดงท่าทีสนใจคำพูดของเด็กมากเกินไป ดุหรือตำหนิว่าพูดติดอ่าง
ยิ่งผู้ใหญ่พยายามให้เด็กพูดซ้ำเพื่อให้พูดได้อย่างคล่องแคล่วไม่ติด ขัด จะยิ่งทำให้เด็กอาย เกิดความไม่มั่นใจหรือวิตกกังวลเรื่องการพูด และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูด ยิ่งเป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เด็กติดอ่างมากขึ้น


วิธีแก้ไขการพูดติดอ่าง
เมื่อพบว่าเด็กพูดติดอ่าง ขั้นแรกควรสังเกตและติดตามดู ไม่ควรตำหนิหรือทักต่อหน้าผู้อื่น เพราะจะทำให้เด็กไม่สบายใจและเกิดความกังวลได้ วิธีที่จะช่วยแก้ไขเด็กที่พูดติดอ่างทำได้โดย

- อย่าวิตกกังวลกับอาการติดอ่างของเด็กมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้เป็นปัญหาต่อเด็กโดยตรง
- เป็นผู้ฟังที่ดี ควรให้ความสนใจและตั้งใจฟังเด็กที่กำลังพยายามพูดมากกว่าจ้องจับผิดว่าเด็ก กำลังพูดอะไร และไม่ควรแสดงท่าทีผิดปกติขณะที่เด็กพูดไม่คล่อง
- รับฟังด้วยท่าทีที่อ่อนโยน สงบ และเข้าใจ ไม่ว่าเด็กจะพูดติดอ่างหรือไม่ ท่าทีที่ผ่อนคลายของผู้ใหญ่ จะทำให้เด็กมีความมั่นใจ สบายใจ และหายติดอ่างได้
- ไม่ควรเร่งให้เด็กพูด ควรให้เวลาเด็กได้คิด รวบรวมคำพูด โดยไม่แสดงท่าทีที่รำคาญ
- อย่าสอนให้เด็กพูดมากเกินไปจนเป็นการยัดเยียดโดยไม่ตั้งใจ ควรให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง จากการพูดคุย การเล่น กิจวัตรประจำวัน หรือการดำเนินชีวิตภายในบ้านและนอกบ้าน
- เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก ด้วยการพูดช้าๆ ชัดๆ สั้นๆ ได้ใจความ กะทัดรัด ไม่เยิ่นเย้อ
- ไม่ควรเปรียบเทียบความสามารถด้านการพูดกับเด็กที่โตกว่า เพราะเด็กส่วนใหญ่มักพูดไม่คล่องในช่วงอายุประมาณ 2-4 ปี ลักษณะการพูดไม่คล่องของเด็กจะค่อย ๆ ลดลงไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น

อาการติดอ่างจะหายไปเมื่อเด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษา หรือเด็กลดการเร่งคำพูดลงเอง แต่ถ้าอาการพูดติดอ่างยังไม่หายหรือมีอาการมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ต่อไป ซึ่งจะมีวิธีแก้ไขการพูดติดอ่าง ได้ดังนี้

- การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกาย ตลอดจนอารมณ์ เมื่อต้องพบกับสถานการณ์ที่เคยพูดติดอ่าง
- การปรับพฤติกรรมการพูดและบุคลิกภาพของคนติดอ่าง เพื่อลดความลำบากในการพูด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่คนพูดติดอ่าง เทคนิคที่ใช้ได้แก่ การใช้จังหวะช่วยในขณะพูด หรือใช้เครื่องสะท้อนเสียงพูดช่วยในการฝึก
- การใช้จิตบำบัดเพื่อขจัดความเครียดหรือความวิตกกังวลในการพูด ร่วมกับการแก้ไขการพูด

วิธีการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้คนติดอ่างพูดได้คล่องขึ้น มีกำลังใจ และลดพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในการพูดออกไป

โดย เอมอร คชเสนี
เว็ปข่าว ผู้จัดการ

Manager Online - สุขภาพ

  ©Template Blogger Green by Dicas Blogger .

TOPO