เมื่อมีฟันผุ จะอุดอย่างไร?

โรคฟันผุเป็นโรคในช่องปากที่พบได้บ่อย จากการสำรวจสภาวะทันตสาธารณสุขของประเทศไทย พบว่า เด็กไทยอายุ 3 ปี จะมีฟันน้ำนมผุโดยเฉลี่ยคนละ 3 ซี่ และจะผุเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้ใหญ่ที่อายุ 35-44 ปี จะมีฟันผุโดยเฉลี่ย 7 ซี่ และที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ ฟันเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา อาการของโรคจะลุกลามมากขึ้น ในที่สุดฟันที่ผุนั้นก็จะถูกถอนไปก่อนกำหนด

การรักษาโรคฟันผุ จะต้องจำกัดเนื้อฟันส่วนที่ถูกทำลายออกให้หมด และเก็บรักษาเนื้อฟันส่วนที่ดีไว้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนไข้ส่วนมากจะไม่เข้าใจว่าทำไมฟันผุเป็นรูเพียงนิดเดียว ต้องกรอฟันออกไปมากมาย เป็นเพราะว่า การเกิดฟันผุนั้น จะเริ่มจากผิวนอกของฟัน คือเคลือบฟันซึ่งเป็นส่วนที่แข็งเมื่อกร่อนเป็นรู จนถึงชั้นเนื้อฟัน ซึ่งนิ่วกว่า การผุในชั้นเนื้อฟัน จะลุกลามได้เร็วกว่าที่ชั้นเคลือบฟัน จึงเห็นภายนอกเป็นรูเพียงเล็กน้อย แต่ภายในกลวงจึงต้องเปิดกรอเอาส่วนผุออกให้หมด ทันตแพทย์จะพยายามเก็บเนื้อฟันส่วนที่ดีไว้ให้มากที่สุด ยิ่งมีเนื้อฟันเหลือมากการรักษาก็จะไม่ยุ่งยาก จึงวางใจได้ว่า ถ้าไม่จำเป็นทันตแพทย์จะไม่กรอฟันท่านออกไปแน่นอน

หลังจากกรอฟันที่ผุออกไปหมดแล้ว ก็จะต้องบูรณะฟันให้มีรูปร่างและขนาดเหมือนฟันเดิม เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป การบูรณะฟันก็ทำได้หลายวิธี เช่น การอุดฟัน การอุดฟันร่วมกับการปัดหมุด การอุดฝัง (inlay) การอุดครอบ (onlay) หรือการครอบฟัน (crown) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อฟันส่วนที่เหลืออยู่ ถ้าเนื้อฟันเหลืออยู่มากพอที่จะยึดวัสดุ ก็ใช้วิธีอุดธรรมดาได้ ถ้าเหลือเนื้อฟันน้อยไม่พอที่จะมีแรงยึดวัสดุได้ อาจต้องปักหมุดลงในเนื้อฟัน เมื่อใช้เป็นตัวยึดวัสดุอุดฟัน แล้วจึงอุดเหมือนอุดฟันธรรมดา ส่วนการทำ inlay หรือ onlay คือจะทำชิ้นวัสดุที่จะบูรณะฟันมาเป็นชิ้น ขนาดพอดีกับเนื้อฟันที่ถูกกรอออกไป แล้วจึงนำมาติดบนฟันโดยมีตัวยึดให้ชิ้นวัสดุนี้ติดแน่นอยู่กับตัวฟัน ส่วนการทำครอบฟันนั้นมักจะทำในรายที่สูญเสียเนื้อฟันไปมาก จนต้องบูรณะขึ้นมาใหม่ทั้งซี่ มาครอบตัวฟันส่วนที่เหลืออยู่

โดยส่วนมากฟันที่ผุมักจะบูรณะด้วยการอุดฟันก่อน ถ้าอุดไม่ได้ หรืออุดไม่อยู่คือ อุดไปแล้วใช้งานไม่ได้นานก็แตกหรือหลุด จึงจะบูรณะด้วยวิธีอื่นต่อไป วัสดุที่ใช้อุดฟันในปัจจุบัน มีอยู่หลายชนิด จะต้องเลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งานของฟันซี่นั้นๆ ด้วย เช่น ฟันหน้าจะต้องพิจารณาถึงความสวยงามเป็นหลัก ส่วนฟันหลังจะต้องพิจารณาถึงความทนทาน ต่อแรงบดเคี้ยวเป็นหลัก ฟันที่อุดแล้วจะต้องใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและคงอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน

วัสดุอุดฟันที่ดีควรมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับคุณสมบัติของฟันธรรมชาติ ทั้งในด้านความแข็งแรง ความยืดหยุ่น การนำความร้อนเย็น การละลายในน้ำ รวมทั้งการยึดติดแน่นกับเนื้อฟัน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีวัสดุอุดฟันชนิดใดที่เหมือนกับเนื้อฟันธรรมชาติอย่างแท้จริง การเลือกวัสดุในการอุดฟันจึงต้องพิจารณาจากคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสภาพช่องปาก อายุและสถานภาพของผู้ป่วยแต่ละคน

วัสดุอุดฟันที่ใช้ในปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 3 พวกใหญ่ๆ คือ

1. กลาสไอโอโนเมอร์ เป็นวัสดุอุดฟันที่มีคุณสมบัติเด่นในด้านการยึดติดแน่นกับฟัน ทางเคมีโดยตรง สามารถปล่อยฟลูออไรด์ออกมาเพื่อช่วยป้องกันโรคฟันผุได้ สีเหมือนฟัน แต่สึกกร่อนได้มากกว่าวัสดุฟันชนิดอื่น จึงใช้อุดฟันที่มีรอยผุเล็กๆ อุดคอฟัน และฟันน้ำนม

2. เรซิน คอมโพสิต เป็นวัสดุอุดฟันที่มีข้อเด่นทางด้านสีสวยเหมือนฟันธรรมชาติ มากที่สุด สามารถยึดติดแน่นกับฟันได้โดยอาศัยสารยึดทางเคมีอื่นร่วมด้วย คงทนได้นานกว่า กลาสไอโอโนเมอร์ แต่ไม่มีการปล่อยฟลูออไรด์ออกมา จึงไม่มีผลในการป้องกันโรคฟันผุ มักใช้อุดฟันหน้าหรือบริเวณที่ต้องการความสวยงาม

3. อมัลกัม เป็นวัสดุอุดฟันดั้งเดิม ที่มีจุดเด่นที่ความแข็งแรงเพราะเป็นส่วนผสมของโลหะ แต่มีสีไม่เหมือนฟัน คือจะเป็นสีเทาเงิน ไม่สามารถยึดติดกับฟันได้ และไม่ปล่อยฟลูออไรด์ มักใช้อุดฟันกรามที่ไม่ต้องการความสวยงาม แต่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมาก

ฟันที่อุดแล้วไม่ได้หมายความว่าฟันซี่นั้นของท่านจะปลอดภัยจากโรคฟันผุตลอดไป ฟันเหล่านั้นสามารถจะผุต่อไปได้อีกเช่นกับฟันซี่อื่นๆ ในปาก โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของเนื้อฟัน กับวัสดุบูรณะฟัน ดังนั้นถึงแม้จะอุดฟันด้วยวัสดุที่ดีและเหมาะสมมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังต้องการการดูแลรักษาฟันอย่างต่อเนื่องด้วย

โรคฟันผุสามารถป้องกันได้ ถ้าท่านหมั่นดูแลรักษาฟันอย่างสม่ำเสมอให้ถูกวิธี เช่น การเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันโรคฟันผุ การใช้ฟลูออไรด์ การแปรงฟันและควรให้ทันตแพทย์ ตรวจสุขภาพช่องปากปีละครั้ง เพื่อตรวจหารอยโรคฟันผุและให้การอุดฟันที่ทันสมัยและเหมาะสม ซึ่งไม่เจ็บปวดและเสียค่าใช้จ่ายน้อย รวมทั้งเป็นวิธีการที่จะเก็บฟันให้ใช้ได้ชั่วชีวิต

ทญ.สุมนา สวัสดิ์-ชูโต

Manager Online - สุขภาพ

  ©Template Blogger Green by Dicas Blogger .

TOPO