เราๆ ท่านๆ บางคนมีประสบการณ์อาการปวดขากรรไกร ขมับ ใบหน้า เป็นอาการที่พบบ่อยรองจากอาการปวดฟัน มักส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ถ้าเป็นบ่อยก็เพียงรบกวนให้รู้สึกไม่สบาย รำคาญ ไม่สดชื่น
ในบางรายการอาการดังกล่าวกลับไม่ธรรมดา ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ได้ อ้าปากพูด หรือหาวนอน ก็เจ็บไปหมด พาลทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดกับคนข้างเคียง รบกวนการทำงาน ลดประสิทธิภาพบางครั้งต้องงงหยุดงาน บางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย และเวลาในการไปรักษาเป็นจำนวนมาก
โรคที่เป็นสาเหตุหลักของอาการปวดในบริเวณนี้คือ โรคข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว สาเหตุเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 อาการปวดร้าวจากฟัน โพรงไซนัสอักเสบ ความผิดปกติของต่อมน้ำลาย ปวดศีรษะ ความผิดปกติในสมอง เนื้องอกในช่องคอหอยและขากรรไกร ความผิดปกติของสายตา กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง
วันนี้จะเน้นเฉพาะโรคข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ซึ่งจะมีอาการปวดตื้อๆ หนักๆ ร้าวๆ ที่ขากรรไกร บริเวณหู ขมับ และอาจทำให้รู้สึกปวดศีรษะได้ ผู้ป่วยจะปวดมากขึ้นเมื่อเคี้ยวอาหารกรอบแข็งเหนียว อ้าปากได้ไม่เต็มที่ อาจมีเสียงดังกึกๆ หรือกรอบแกรบที่หน้าหูเวลาอ้าปาก ข้อต่อขากรรไกรขัดค้างเวลาอ้าหุบปาก รู้สึกแน่นในหู หูอื้อ
ความผิดปกติของโรคข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กล้ามเนื้อ แผ่นรองข้อเอ็นยึด และผิวกระดูกข้อต่อขากรรไกรเสื่อม ส่วนการรักษา ขอเรียนว่ามีการรักษาได้หลายวิธีส่วนใหญ่ไม่ต้องผ่าตัด วิธีการรักษาเหล่านี้ ได้แก่
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนิสัยที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ ละเลิกนิสัยชอบกัดเน้นฟัน กัดเล็บ เคี้ยวหมากฝรั่ง เคี้ยวอาหารข้างเดียว
- การประคบร้อนหรือเย็น
- การบริหารขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว
- การใช้ยา เช่น ยาต้านอักเสบ ยาลดปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาต้านเศร้า เป็นต้น
- การใส่เฝือกฟัน เพื่อลดปวดและช่วยฟื้นฟูข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อ ลดการบาดเจ็บของฟันและเนื้อเยื่อในปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่นอนกัดฟัน
- การฝึกผ่อนคลายและลดความตึงเครียด หรือ...
- การผ่าตัด ซึ่งปกติมักไม่ใช้ยกเว้นในรายจำเป็นจริงๆ
ในกรณีจะดูแลเบื้องต้นเมื่อมีอาการปวด อาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นจัดประคบบริเวณที่ปวดนาน 15 นาที รับประทานอาหารที่อ่อนนิ่ม งดอาหารกรอบแข็ง เหนียว และไม่ฝืนอ้าปากให้กว้างกว่าปกติ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น